อุ้งเชิงกรานอักเสบ PID เกิดขึ้นได้จากอะไร? รักษาหายหรือเปล่า?

อุ้งเชิงกรานอักเสบ PID เกิดขึ้นได้จากอะไร? รักษาหายหรือเปล่า?

เคยเป็นกันไหมคะสาว ๆ กับอาการปวดบริเวณช่วงท้องน้อยด้านล่าง แถมมีปัญหาตกขาวที่ดูแล้วจะผิดปกติอีกด้วย… หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นช่วงที่ประจำเดือนกำลังจะมาหรือเปล่า? แต่ทว่าช่วงนั้นไม่ใช่ช่วงรอบเดือนปกติ ยิ่งทิ้งไว้ยิ่งอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ แบบนี้อาจเสี่ยงเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ ที่มาจากการติดเชื้อก็เป็นได้ ถ้าปล่อยเอาไว้นาน จะตามมาด้วยอาการอื่น ๆ อีกหลายอย่าง

ดังนั้นเพื่อดูแลตัวเองก่อนการติดเชื้อจะรุนแรง ลองมาเช็คกันสักนิด จะได้รู้ว่าควรรีบเข้ารับการตรวจจากแพทย์อย่างเร่งด่วนกันเลยหรือเปล่า?

โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ เกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง?

โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือที่ในภาษาอังกฤษว่า Pelvic Inflamatory Disease มีชื่อย่อว่า PID เป็นโรคที่พบได้ไม่น้อยในผู้หญิง ซึ่งการอักเสบที่พบมาจากการติดเชื้อที่อยู่ในระบบสืบพันธุ์อันซับซ้อน อาจจะเกิดขึ้นได้ที่ปีกมดลูก ท่อนำไข่ หรือมดลุกก็ได้ สาเหตุของการติดเชื้อมีได้หลายปัจจัย

แต่ที่พบได้มากเลยก็คือการติดต่อที่มาจากเพศสัมพันธ์ ผู้ที่มีโรคหนองในแท้และเทียมเป็นทุนเดิม บริเวณที่ติดเชื้อได้ง่ายคือปากมดลูก ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบเข้ารับการรักษา เชื้อโรคจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะสืบพันธุ์อื่น ทำให้การรักษาทำได้ยาก และมีอาการที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้การติดเชื้อดังกล่าวมาจากแบคทีเรียหลายชนิด ในขั้นตอนการรักษาแพทย์จะต้องวินิจฉัยหาว่าเชื้อดังกล่าวเป็นชนิดใด แต่ในกรณีที่ไม่สามารถหาชนิดได้ชัดเจน จะมีการใช้ยาปฏิชีวนะแบบครอบคลุม นำมาใช้ในการรักษาแล้วคอยติดตามอาการ

โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ อาการน่าสงสัยที่ไม่ควรมองข้าม

เนื่องจากอาการของโรคมักจะมีความใกล้เคียงกับอาการอื่นที่เกิดขึ้นในช่วงรอบเดือน เช่น เลือดออกนานผิดปกติ, อาการปวดท้องน้อยเหมือนปวดท้องประจำเดือน, ตกขาวมีกลิ่นและสีที่ผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งทำให้สาว ๆ มักแยกไม่ออกว่านี่เป็นการติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน บางคนปล่อยปะละเลย จนทำให้เกิดภาวะะแทรกซ้อนที่รุนแรง

ความน่ากังวลคือ ในช่วงที่ติดเชื้อใหม่ ๆ มักไม่ค่อยมีอาการ ทำให้ไม่มีการดูแลรักษา ตัวเชื้อแพร่กระจายไปตามอวัยวะสืบพันธุ์ เกิดอาการปวดเรื้อรังที่อุ้งเชิงกราน มีไข้ เจ็บท้องน้อยขณะขับถ่ายหรือปัสสาวะ ซึ่งทั้งหมดนี้หากพบอาการใดอาการหนึ่งที่รู้สึกว่าไม่ค่อยปกติเหมือนรอบเดือนที่เคยเป็นมา ควรเข้าพบแพทย์เพื่อเช็คตัวเองสักนิด จะได้รับการรักษาได้ทัน หากเกิดการติดเชื้อขึ้นมา

การรักษาโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ และการป้องกัน

ในการเริ่มต้นรักษาโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ แพทย์จะมีการจำแนกออกก่อนว่ามาจากสาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดความผิดปกติ ซึ่งอาจจะไม่ได้มาจากการติดเชื้อก็เป็นได้ แต่อาจเกิดขึ้นโรคอื่น เช่น ฝี, ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ, ท้องนอกมดลูก, แผลที่บริเวณปากมดลูก ไปจนถึงมะเร็ง เป็นต้น

ถ้าพบว่าอาการปวดท้องมาจากการติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน จะรักษาด้วยการกินยา หรือกินยาร่วมกับฉีดยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เพื่อลดการเจริญเติบโตของเชื้อ และลดการอักเสบ บางรายที่มีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังเป็นเวลานาน อาจมาจากผู้ป่วยมีภาวะดื้อยา เสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้อีก แพทย์จะมีการติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดในการติดเชื้อครั้งแรก โดยจะมีการให้ยาฆ่าเชื้ออย่าง ยาออฟล็อกซาซิน, เซฟไตรอะโซน, ดอกซีไซคลิน เป็นต้น โดยตัวยาดังกล่าวจะมีข้อจำกัดหากการติดเชื้อเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ แพทย์จะให้ยาตัวอื่นที่ปลอดภัยต่อเด็กในครรภ์แทน และผู้ป่วยจะต้องกินยาต่องเนื่อง 14 วัน แม้ว่าอาการจะดีขึ้น ก็จะต้องกินให้ครบ เพื่อไม่ให้เชื้อเกิดการดื้อยา ช่วยให้การรักษาได้ประสิทธิภาพ ให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติ ลดโอกาสไม่ให้โรคกลับมาเป็นซ้ำสองได้อีก

ในส่วนของการป้องกัน สาว ๆ ต้องเข้าใจด้วยว่าโรคนี้จะพบได้มากในผู้หญิงอายุ 25 ปีขึ้นไป โดยหลัก ๆ จะมาจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคทางเพศสัมพันธ์

วิธีการป้องกันที่ได้ผลคือการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า  จำกัดคู่นอน ดูแลเรื่องความสะอาด ป้องกันการติดเชื้อด้วยถุงยางอนามัยทุกครั้ง อย่าคิดว่ายาคุมจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ ควรมีเพศสัมพันธ์กับสามีหรือภรรยาเพียงคนเดียวเท่านั้น กรณีที่พบว่าคู่นอนมีการติดเชื้อควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์อย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเล็ดลอดเข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของสาว ๆ ที่มีความซับซ้อนมากกว่าในผู้ชาย

เมื่อดูแลตัวเองได้อย่างดีแล้ว แต่ยังพบความผิดปกติเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้อง การมาของประจำเดือนที่ไม่ปกติ มีอาการแสบขัดขณะปัสสาวะ หรืออื่น ๆ ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ ทางที่ดีควรเข้าพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง จะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง ตัดเส้นทางการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังระบบอื่น ๆ ของร่างกาย ป้องกันภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่จะตามมาได้ทันก่อนจะสายเกินแก้